"วิกฤตอาหาร สถานการณ์รอบใหม่
ปัญหารัฐบาลกับระบบ |
วิกฤตการณ์อาหารกำลังเป็นประเด็นที่ชาวโลกหันมาสนใจอีกครั้ง หลังจากเกิดปัญหาใหญ่ครั้งหลังสุดในปี 2551
ล่าสุด ได้รับการยืนยันจาก องค์กระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น องค์การอาหารและเกษตรโลก ของสหประชาชาติ (FAO) ธนาคารโลก (World Bank) ที่ต่างออกมาเตือนว่า ราคาอาหารโลกวันนี้ ปรับตัวสูงขึ้นกว่าราคาในช่วงปี 2551 ได้เข้าสู่ระดับที่เป็นอันตรายแล้ว
สถานการณ์รอบใหม่ในขณะนี้ นอกจาก "ราคา"ยังพุ่งไม่หยุด แข่งกับน้ำมันที่ราคาทะยานอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนอย่างหนัก
สำหรับประเทศไทย ถึงแม้จะเป็นที่กล่าวขานกันว่า เป็นประเทศ อู่ข้าว อู่น้ำ แต่ก็หนีไม่พ้นปัญหาสินค้าอาหารราคาแพง เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
สังเกตจาก สองเดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.- ก.พ. 2554) เทียบกับตัวเลขสองเดือนแรกของปีที่แล้ว (ม.ค.- ก.พ.2553) ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 5.15% ผักผลไม้ 19.15% อาหารสด 8.4%
สอดคล้องกับที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รายงานว่าสินค้าที่ราคาปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยางพารา สับปะรด หอมแดง ปาล์มน้ำมัน และไก่เนื้อ
เมื่อรวมกับภาวะราคาน้ำมัน ที่เริ่มเข้าสู่ช่วงขาขึ้น ก็ยิ่งทำให้ต้นทุนการผลิต การขนส่งสินค้า เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาสินค้าอาหารทยอยปรับราคาสูงขึ้นตามไปด้วย
วันนี้จึงเริ่มมีเสียงบ่นจากคนไทย ในฐานะผู้บริโภคว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า ข้าวยากหมากแพง ที่แท้จริงแล้ว
ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่ง แม้ว่าราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต แต่ก็พบว่าภาคเอกชนผู้ส่งออกสินค้าอาหารกลับได้รับอานิสงส์จากสถานการณ์นี้
เห็นได้จากตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตร (กสิกรรม ปศุสัตว์ ประมง) เพิ่มขึ้นจาก 16,429.91 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2552 เป็น 21,526.12 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553 ส่วนสินค้าเกษตรแปรรูปก็เพิ่มขึ้นจาก 11,264.49 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2552 เป็น 13,222.84 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2553
ถึงแม้จะไม่มีตัวเลขยืนยันอย่างชัดเจนว่า มีบริษัทเอกชนของไทยที่ทำธุรกิจส่งออกอาหารกี่บริษัทกันแน่ แต่คาดว่ามีไม่มากนัก เพราะเทียบจากสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย ที่มีอยู่แค่ 17.8% เท่านั้น เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมด ซึ่งการส่งออกของไทยส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุตสาหกรรมถึง 76.8% อีก 5.4% ส่งออกแร่และเชื้อเพลิง และสินค้าอื่นๆ
จึงน่าแปลกใจว่า ในเมื่อการส่งออกสินค้าอาหาร สินค้าเกษตร ได้รับอานิสงส์จากราคาอาหารในตลาดโลกที่สูงขึ้นเช่นนี้แล้ว ทำไมเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา กับผู้บริโภคส่วนใหญ่ในประเทศยังต้องซื้ออาหารแพง
ดังนั้น วิกฤตการณ์อาหารในบ้านเราเวลานี้ ปัญหาจึงตกอยู่กับประชาชนผู้บริโภคเพียงฝ่ายเดียว ที่ต้องใช้จ่ายค่าสินค้าอาหารแพง ทั้งที่ไทยได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารอันอุดมสมบูรณ์ประเทศหนึ่งในโลก
เราต้องกลับมาดูกันอย่างจริงจังแล้วว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น
หากเกิดจากผลกระทบของธรรมชาติ เช่น น้ำแล้ง น้ำท่วม และเป็นไปตามกลไกตลาด เช่น อุปสงค์ (demand) มาก แต่อุปทาน (supply) มีน้อยซึ่งทำให้ราคาสูงขึ้น ก็เป็นเรื่องที่สามารถเข้าใจได้
หาก เกิดจากการบริหารงานผิดพลาดของภาครัฐ เพราะความไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง ปล่อยปละละเลย ไม่เร่งรีบแก้ไขหรือป้องกันปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ หรือปล่อยให้มีการใช้ช่องทางแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ จนทำให้ราคาอาหารผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง
ก็คงเป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้
ตัวอย่างกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราเวลานี้ คือ น้ำมันปาล์ม
วันนี้ปาล์มกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญมาก เพราะเป็นทั้งอาหาร ส่วนประกอบอาหาร และพืชพลังงาน
ขณะที่ปัญหาน้ำมันปาล์มหายไปจากตลาดในขณะนี้ เห็นได้ชัดว่าไม่มีการประสานงานกันอย่างชัดเจนระหว่างหน่วยงานต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
ตั้งแต่ด้านการผลิต ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการคาดการณ์แล้วส่งสัญญาณเตือนว่า ปีนี้จะผลิตออกมาได้มากน้อยกว่าปีที่แล้วหรือไม่ จนไปถึงหน่วยงานปลายน้ำ คือ กระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องกำหนดโควตาการนำเข้า ส่งออก การควบคุมราคาขายในประเทศ หรือแม้แต่กระทรวงพลังงาน ว่ามีนโยบายดึงน้ำมันปาล์มจากระบบไปใช้ทำพลังงานทดแทนในปริมาณที่จำเป็นมากน้อยแค่ไหน
เมื่อพิจารณาจากเส้นทางการผลิตจากต้นน้ำถึงปลายน้ำจนส่งถึงร้านค้าขายส่งและถึงมือผู้บริโภคน้ำมันปาล์ม ตั้งแต่การกำหนดราคาปาล์มดิบ ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ราคาขายส่งโรงงาน ราคาขายปลีก รวมไปถึงนโยบายการควบคุมปริมาณ เช่น การควบคุมการนำเข้า การดูแลโควตาส่งออก การกำหนดสัดส่วนให้ใช้ทำพลังงานทดแทน รวมทั้งการป้องกันการเก็งกำไร การกักตุน มาตรการเหล่านี้ย่อมมีผลกระทบต่อการขึ้นลงของราคาน้ำมันปาล์มในประเทศทั้งสิ้น
สิ่งที่ผมอยากเห็นมากที่สุดวันนี้ คือ แนวทางการแก้ปัญหาสินค้าอาหารแพงของรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเฉพาะนโยบายด้านราคา น่าจะมีบทบาทมากในการแก้ไขปัญหาระยะสั้นและระยะยาว จังหวะการเปิดเสรีการนำเข้า และปริมาณที่เหมาะสมให้ทันกับสถานการณ์
รวมทั้งการลงโทษขั้นเด็ดขาดผู้ที่กระทำผิดกักตุนสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น ทั้งเรื่องราคาสินค้าอาหารที่เหมาะสม และไม่ให้เกิดการขาดแคลน
เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นถึงความผิดปกติในระบบการจัดการของภาครัฐอย่างชัดเจน ฉะนั้นรัฐบาลจะปฏิเสธความรับผิดชอบได้อย่างไร
|
. |
Posted By : ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร
File Under : General
7 มีนาคม 2554 14:09 น.
|
 |
ผู้อ่านทั้งหมด 2763 คน (54.81.117.119) |
แจ้งลบ |
|